วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

วันตรุษจีน

ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน

          ประวัติของวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความปรารถนาสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ปรับปรุง หรือที่เราคิดทำเมื่อเริ่มต้นในปีใหม่ มาถึงตอนนี้ ถ้าไม่ถูกลืมก็ถูกยัดลงกล่องใส่ตู้ปิดตายและแปะหน้าตู้ว่าไม่แน่ เอาไว้ทำปีหน้าแล้วกันอย่างไรก็ดี ความหวังก็คงยังไม่สูญไปทั้งหมดเพราะโอกาสที่สองกำลังมาถึงแล้ว กับการฉลองวันปีใหม่จีนหรือที่เรารู้จักกันว่า ตรุษจีนในวันที่ 29 มกราคม 2549 นี้ นั้นเอง
          ตรุษจีนนั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีน นั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น
          วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
          เมื่อถึงวันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ในวันตรุษนี้ อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ การฉลองวันตรุษจีนสิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลองวันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน
ตำนานวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก

เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน

การไหว้เจ้า
              การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ
  • ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
  • ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
  • ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
  • ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”

             ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ
  • ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
  • ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
  • ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
  • ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3
  • ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
  • ไหว้เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”
              การไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน
              เมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด

              การจัดของไหว้
  • ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพงและหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”
  • ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้

            ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว
  • ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี
  • องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม
  • สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
  • กล้วย มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล
              ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ถั่วดำ และเชื้อแป้ง (ยีสต์) โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมยให้การไหว้เจ้านี้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
              แต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้าน ต้องใช้ข้าวสารหรือทราย มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อถูกความชื้น เช่น ฝนหรือน้ำค้าง จะทำให้แข็งตัวแล้วปักธูปไม่ลง
              เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการปิดท้ายรายการ

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน
  • ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล
    ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
  • หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่
    คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
  • การแต่งกายและความสะอาด
    ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
  • วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ
    สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล
  • บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก
    ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
  • การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ
    ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
  • ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี
    ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ ของตน
15 วันแห่งการฉลองตรุษจีน
  • วันแรกของปีใหม่
    เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการต่ออายุและนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน
  • วันที่สอง
    ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าวอาบ น้ำให้แก่มัน ด้วยเชื่อว่า วันที่สองนี้เป็นวันที่สุนัขเกิด
  • วันที่สามและสี่
    เป็นวันของบุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน
  • วันที่ห้า
    เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาแก่ทั้งสองฝ่าย
  • วันที่หก
    ถึงสิบชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัดไปวาสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข
  • วันที่เจ็ด
    ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิด ของมนุษย์ในวันนี้อาหารจะเป็น หมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ
  • วันที่แปด
    ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์
  • วันที่เก้า
    จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้
  • วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง
    เป็นวันของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งควรเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น และหลังจากที่ทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมัน วันที่สิบสามถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย
  • วันที่สิบสี่
    ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้น ในคืนของวันที่สิบห้า
  • วันที่สิบห้า
    งานฉลองโคมไฟ
     

วันกองทัพไทย

วันกองทัพไทย (25 มกราคม)

วันกองทัพไทย (25 มกราคม)
 


วันกองทัพไทย ทุกวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี
ความสำคัญ
           กองทัพไทย 3 เหล่า อันได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ต่างเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศชาติจากการรุกรานของบรรดาเหล่าราชศัตรูในยามสงคราม และในยามสบงกำลังพลของกองทัพทั้ง 3 เหล่า ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ดังนั้นจึงได้กำหนดให้มีการจัดงานวันกองทัพไทยในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี

ประวัติ
           สาเหตุที่กำหนดให้ วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทยนั้น เนื่องจากเป็นวันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จอมทัพไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อ สมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งพม่า และผลแห่งชัยชนะในครั้งนั้น ทำให้ข้าศึกไม่กล้าเข้ามารุกรานไทยทุกทิศทาง เป็นเวลาถึง 150 ปี

สงครามยุทธหัตถี
           เมื่อกรุงหงสาวดีของพม่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่พระเจ้านันทบุเรงนองขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา ทางพม่าได้แจ้งข่าวการเปลี่ยนรัชกาลไปยังประเทศราชทั้งปวง โดยให้ผู้ปกครองประเทศราชไปเฝ้าตามประเพณี ในครั้นสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดปรานให้พระนเรศวรราชโอรสเสด็จขึ้นแต่เมื่อเสด็จถึงเมืองแครง บังเอิญทรงทราบถึงแผนการของพม่าที่คิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากบุคคลสำคัญทางมอญหลายคนที่สนิทสนมคุ้นเคยได้ลอบทูลก่อนที่พระองค์จะเสด็จถึงเมืองพม่า
           ด้วยเหตุนี้ พระนเรศวรจึงทรงถือโอกาสประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ในปีพ.ศ. 2127 แยกราชอาณาจักรศรีอยุธยาออกเป็นอิสรภาพจากพม่า แล้วจึงยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีไปรบพุ่งมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว จวนใกล้จะยกทัพกลับคืนพระนคร พระนเรศวรทรงเห็นว่าการจะตีเมืองหงสาวดีในครั้งนี้คงไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันไปบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนเอาไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ให้อพยพกลับ ได้ครอบครัวกลับมาตุภูมิเดิมถึง 10,000 เศษ ฝ่ายอุปราชาได้ทราบข่าวจึงยกมาเป็นทัพหลวง ยกติดตามพระนเรศศวรมา โดยให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า ครั้นกองหน้ามาถึงแม่น้ำสะโตงเมื่อพระนเรศวรยกข้ามฟากมาได้แล้ว จึงยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมน้ำ พระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว 9 คืบ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นว่านายทัพตายก็พากันครั่นคร้ามเลิกทัพกลับไป
      
           พระแสงปืนซึ่งพระนเรศวรยิงถูกสุรกรรมาดับชีพในคัร้งนั้นได้มีนามปากกาปรากฎว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดินสืบมาตราบจนถึงกาลปัจจุบันนี้ ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน วันอาทิยต์ ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงได้เสร็จยาตราทัพออกจากกรุงหงสาวดี เพื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระอุปราชาอยู่รักษาพระนคร พระนเรศวรทรงทราบว่าพม่ายกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ใหญ่หลวงนัก จึงตรัสให้รวบรวมเสบียงอาหารและไพร่พลฉกรรจ์จากหัวเมืองเข้าพระนคร แม้กองทัพใหญ่ฝ่ายพม่าจะยกเข้าโจมตีพระนครเป็นหลายครั้งก็หาสำเร็จไม่ จึงตั้งล้อมกรุงไว้เป็นเวลา 4 เดือน เห็นว่าไม่มีทางเอาชนะไทยได้ ทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสน และไข้รุม จึงต้องยกทัพกลับ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2130 ในศึกครั้งนั้น พระนเรศวรออกรบอย่างกล้าหาญ และปลอมพระองค์จะเข้าค่ายพระหงสาวดี โดยเสด็จลงจากหลังม้าทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารปีนระเนียด (ปีนค่าย) แต่ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ พระแสงดาบซึ่งทรงในวันนั้นจึงปรากฏนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย”
            ครั้นถึงวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สองวีรกษัตริย์ไทย คือ สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถได้เข้าตีกองทัพหน้าของพม่าที่ยกมาครั้งใหม่แตกหนีอลหม่าน ขณะนั้นเองช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ กับช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นช้างตกมันทั้งคู่ ได้ไล่ตามพวกข้าศึกไปอย่างเมามันทำให้กองกำลังทหารไทยตามไม่ทัน สองวีรกษัตริย์ไทยเข้าไปอยู่กลางวงล้อมของเหล่าข้าศึก มีแต่จตุรงคบาทและพวกทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน เมื่อพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชธารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบว่าได้ถลำเข้ามาจนถึงกลางกองทัพของปัจจามิตรแล้ว แต่พระองค์ทรงมีสติมั่นไม่หวั่นไหวจึงไสช้างเข้าไปใกล้แล้วตรัสไปโดยฐานคุ้นเคยกันมาก่อนทั้งในวัยเยาว์และวัยเติบใหญ่ว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราจะไม่มีอีกแล้ว”
           ด้วยความมีขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาจึงไสช้าง พลายพัธกอ ออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพซึ่งกำลังตกมัน เมื่อเห็นข้าศึกตรงออกมาท้าทายก็โถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เลยพลาดท่าทำให้พลายพัธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทันเลยถูกแต่พระมาลาหนังขาดวิ่นไป พอดีกับเจ้าพระยานุภาพสะบัดหลุดแล้วกลับได้ล่างแบกรุนพลายพัธกอหันเบนไปบ้าง สมเด็จพระนเรศวรจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่อังสะขวา (ไหล่ขวา) ขาดสะพายลงมา ซบสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง
  
           ส่วนสมด็จพระเอกาทศรถได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปาโรขาดสะพายแล่งตายคาคอช้างเช่นกัน พวดท้าวพระยาเมืองหงสาวดี เห็นเจ้านายเสียทีต่างก็กรูกันเข้ามาช่วย ใช้ปืนระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ถึงบาดเจ็บ พอดีขณะนั้นกองทัพหลวงของไทยตามมาทัน จึงเข้ารบพุ่งแก้เอาจนจอมทัพไทยออกมาได้ ฝ่ายกรุงหงสาวดีก็เลิกทัพกลับไป
           พระแสงของ้าวที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประหารพระมหาอุปราชาครั้งนั้น ได้นามต่อมาว่า “พระแสงแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันก็ปรากฏนามว่า “พระมาลาเบี่ยง” นับเป็นเครื่องมงคลราชูปโภคมาจนบัดนี้ ส่วนช้างศึกที่ชนะก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”
           จากเหตุการณ์การทำสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถวีรกษัตริย์ไทยในครั้งนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2135 จึงถือเอาวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย (ปัจจุบันพบหลักฐานใหม่ว่า น่าจะตรง กับวันที่ 18 มกราคม แต่ยังถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย) 

กิจกรรม

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในวันกองทัพไทย
1. ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ
2. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
3. จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย

วันครู

วันครูของประเทศไทย

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคียาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้
  • กิจกรรมทางศาสนา
  • พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
  • กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการจรรยา บทสวดเคารพครู

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็กแห่งชาติ

ประวัติ
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้
[แก้] คำขวัญวันเด็กคำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปี นายกรัฐมนตรี คำขวัญ
พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สูด
พ.ศ. 2507 จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510 จอมพลถนอม กิตติขจร อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515 จอมพลถนอม กิตติขจร เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517 สัญญา ธรรมศักดิ์ สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518 สัญญา ธรรมศักดิ์ เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ. 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535 อานันท์ ปันยารชุน สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538 ชวน หลีกภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539 บรรหาร ศิลปอาชา มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541 ชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542 นายชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. 2551 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ. 2555 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

วันกาชาดไทย

ประวัติวันกาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งองค์กรการกุศล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ดำเนินการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ ป่วยไข้จากการสู้รบ ทำหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจากภัยสงครามและภัยพิบัติต่าง ๆ

ปีพุทธศักราช 2449 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภากอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์

ปีพุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสืบทอดพระราชภารกิจของสภากาชาดสยามให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศ

ปีพุทธศักราช 2454 พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมลงนามความตกลงเรื่องกฏหมายคุ้มครองเครื่องหมายกาชาด (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่งประเทศ IHL)

ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม บริหารงานของสภากาชาดให้เจริญก้าวหน้า ทรงมีพระราชโองการให้ประการพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม ปีพ.ศ.2461 และทรงนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาดฯ ในปีพ.ศ.2463 เป็นลำดับที่ 27 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2464

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันขึ้นปีใหม่

ความหมายของ วันขึ้นปีใหม่
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันรัฐธรรมนูญ

วันรัฐธรรมนูญ
สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดี ให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม
กระทั่งถึง วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี
ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบ สภาผู้แทนได้
หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญ ของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎร เลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรง อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้้

ประวัติความเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับปัจจุบัน)
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในปี 2549-2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว มีการเผยแพร่ให้ประชาชนได้ลงประชามติว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นการเผชิญหน้าทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ต่อต้าน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นขั้นตอนการร่าง เช่น ประชานไม่ได้มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การที่ คมช. ผูกขาดการสรรหาสมาชิก สสร. และในเนื้อหาสาระของร่างก็มีประเด็น เช่น มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการนิรโทษกรรม คมช. เองสำหรับการก่อรัฐประหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขสองครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีประเด็นที่แก้ไขคือ ระบบการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 มาตรา 93-98) และข้อกำหนดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มาตรา 190)